:: ศรีดอนชัยชื่ออารามนามประเสริฐ   แหล่งกำเนิดวัฒนธรรมล้ำวิถี   ถิ่นไตลื้ออันลือเลื่องเรืองระวี   ชาวงอบนี้ต่างเลื่อมใสใจศรัทธา ::
     ตามตำนานที่กล่าวขานสืบต่อกันมาในบรรพบุรุษของหมู่บ้าน ประกอบกับหลักฐานงานเขียนที่ได้อ้างอิงมา ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมของหมู่บ้านในปัจจุบัน พอสรุปได้ว่า คงจะอพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาค่อนข้างแน่นอน แต่จะมาในสมัยใด เมืองใด นั้นไม่อาจทราบได้ อาจมาในคราวที่เจ้าหลวงสุมนเทวราช ผู้ครองนครน่านยกทัพไปตีสิบสองปันนา และกลับมาถึงเมืองน่านในปี จุลศักราช ๑๑๗๕ ก็เป็นได้ เพราะปีจุล-ศักราช ๑๑๗๕ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๕๖ ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และหลักฐานเท่าที่ปรากฏ มีครูบาอินต๊ะวิชัย เจ้าอาวาสวัดศรีดอนชัยองค์หนึ่ง เขียนไว้ในธรรมคัมภีร์ใบลาน เป็นภาษาพื้นเมืองล้านนาโบราณ ระบุปี จ.ศ. ๑๑๘๕ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากเจ้าหลวงสุมนเทวราชกวาดต้อนคนลื้อมาจากสิบสองปันนาได้ ๑๐ ปีพอดี ว่าท่านมาจากเมืองหลวงภูคา และบรรยายถึงวัดศรีดอนชัยไว้ส่วนหนึ่งว่า “เขียนแล้วปางอยู่เมตตาวัดศรีดอนชัยงอบนาล้อมแก้วกว้าง “ ซึ่งขณะนี้คัมภีร์ยังเก็บรักษาไว้ที่วัดศรีดอนชัย ต.งอบ ก็คงเป็นหน้าที่ของลูก หลาน เหลนของขาวไตลื้อ “บ้านงอบ” ที่จะต้องช่วยกัน สืบค้นหา ที่มาของบรรพบุรุษต่อไป

ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน
     เดิมหมู่บ้านงอบ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้านในปัจจุบัน ห่างจากหมู่บ้านในปัจจุบันประมาณ ๓ กิโลเมตร ต่อมามีปัญหาเกี่ยวกับน้ำท่วม และไม่มีพื้นที่ราบสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย ชาวบ้านบางส่วนจึงย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านในปัจจุบัน และพากันเรียกหมู่บ้านงอบเดิมว่า “บ้านเก่า” จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๔ ชาวบ้านที่อยู่บ้านเก่าจึงอพยพมาอยู่บ้านงอบทั้งหมด ทิ้งให้บ้านเก่า เป็นหมู่บ้านร้างตั้งแต่นั้นมา หมู่บ้านงอบ ครั้งแรกมีเพียง ๑ หมู่บ้าน คือหมูที่ ๑ (บ้านงอบศาลา)
  • - เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้แยกหมู่บ้านที่อยู่ทางทิศตะวันออกของถนนเป็นหมู่ที่ ๕(บ้านงอบเหนือ)
  • - เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้แยกหมู่บ้านที่อยู่ทางใต้ของลำน้ำงอบ เป็นหมู่บ้านที่ ๘(บ้านงอบใต้)
  • - เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้แยกหมู่บ้านที่อยู่ระหว่างหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๘ ออกอีก ๑ หมู่เป็นหมู่ที่ ๙ (บ้านงอบกลาง)
  • - และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้แยกราษฎรหมู่ที่ ๘ ที่อยู่บริเวณรอบวัดศรีดอนชัยจนถึงโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๙๘ เป็นหมู่ที่ ๑๐ (บ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง)