:: ศรีดอนชัยชื่ออารามนามประเสริฐ   แหล่งกำเนิดวัฒนธรรมล้ำวิถี   ถิ่นไตลื้ออันลือเลื่องเรืองระวี   ชาวงอบนี้ต่างเลื่อมใสใจศรัทธา ::
วัดศรีดอนชัย (งอบ) ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน
 ประวัติวัดศรีดอนชัย ( งอบ ) 
     วัดศรีดอนชัย ( งอบ ) สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๔๙ ผู้สร้างไม่ทราบแน่ชัด รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันพุธที่ ๑๓ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ปีกุน สัปตศก ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ ( เอกสารของท่านพระครูเขียนทองกล่าวว่า สร้างวัดเมื่อ ๑๖ เดือนมกราคม ๒๒๔๕ เป็นวัดโดยสมบูรณ์เมื่อ ๑๕ เดือนมีนาคม ๒๒๔๙ ) ภายในวัดมีต้นศรีมหาโพธิ์ อันเปรียบเสมือนเสาใจบ้านของชาวไทลื้อบ้านงอบ ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้านสังเกตโดยอยู่บนที่สูงมองลงมาจะเห็นได้ชัดเจน เป็นสิ่งที่บ่งบอกอายุของวัดได้เป็นอย่างดี เพราะเสนาสนะอื่นมักเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อนึ่งในการตั้งหมู่บ้านในสมัยก่อนจะมีการตั้งเสาใจบ้านไว้กลางหมู่บ้าน โดยจะนำหลักไม้มาปักไว้พร้อมทั้งปลูกต้นโพธิ์ให้เติบโตคลุมเสานั้นไว้ ตั้งอยู่เลขที่ ๖๓ บ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง หมู่ที่ ๑๐ ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

 เนื้อที่วัดโดยประมาณ
  • - ๔ ไร่ ๑ งาน ๘๕ ตารางวา ( น.ส. ๓ เลขที่ ๖๓๗ )
 อาณาเขต
  • - ทิศเหนือ : ๒ เส้น ๑๑ วา ๓ ศอก ติดที่ดินนายอิน อินทะรังษี,นางบัวตอง อินทะรังษี,นายบรวงค์ อินทะรังษี
  • - ทิศใต้ : ๒ เส้น ๑๐ วา ติดที่ดินนายอิน อินทะรังษี, ลำน้ำงอบ
  • - ทิศตะวันออก : ๒ เส้น ๑๖ วา ๑ ศอก ติดลำน้ำเหมือง , ที่ดินนายยารังษี อินทะรังษี
  • - ทิศตะวันตก : ๑ เส้น ๘ วา ๒ ศอก ติดที่ดินนายสัมพันธ์ ร่อนทอง

 อาคารเสนาสนะ
พระอุโบสถ
- อุโบสถ : กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เริ่มสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ทำการฉลองเมื่อ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ภายในมีพระประธาน โลหะสำริด หล่อแบบทั้งองค์ไม่มีการต่อ ปางสมาธิ นามว่า “ พระพุทธวิถีนายก “ หน้าตักกว้าง ๓๑ นิ้ว สูง ๕๔ นิ้ว กว้าง ๔๑.๕ นิ้วและพระสาวก ๒ รูป ถวายโดยศรัทธาวัดกลางบางแก้ว อำเภอนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม วัดนี้มีอดีตเจ้าอาวาสเป็นพระเกจิ คือ หลวงปู่บุญ ถวายเมื่อคราวฉลองพระอุโบสถ์ ภายในมีพระพุทธรูปที่ขึ้นทะเบียนไว้อีกหลายองค์

พระวิหาร
- วิหาร : กว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ สมัยพ่อกำนันบุญสวย อินทะรังษีเป็นกำนัน พระประธานในวิหารเป็นปางมารวิชัย แบบปูนปั้นมาแต่โบราณ หน้าตักกว้าง ๙๑ นิ้ว สูง ๑๗๙ นิ้ว ฐาน ๑๑๔ นิ้ว สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏ มีการลงลักปิดทองมาแต่โบราณ บูรณะซ่อมแซมสมัยท่านพระครูเขียนทองโดยนายช่างอาคม อินทะรังษี เพราะแขน( พระเพลา ) ชำรุด ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่ารูปลักษณะเปลี่ยนไปจากองค์เดิมแต่ก็สวยงามไปอีกแบบ เดิมใบหูเป็นไม้ซ้อ ศิลปะวิหารเป็นแบบล้านนาไทย ด้านข้างมีเครื่องสูงมีมาแต่โบราณตามประเพณีไทลื้อ

กุฏิสงฆ์
- กุฏิสงฆ์ : สมัยที่ผู้รวบรวมยังเป็นเด็กวัดนั้นได้เกิดอัคคีภัยไหม้กุฏิใหญ่เมื่อ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ เวลาตี ๒ กับอีก ๔๕ นาที ไฟเกือบจะไหม้วิหารกับกุฏิเจ้าอาวาสแต่ดับไว้ทันแต่อุโบสถไม่เป็นไรน่าอัศจรรย์ ณ ปัจจุบันมีด้วยกัน ๒ หลัง คือ กุฏิศรีสุวรรณราษฎร์ ฉลองเมื่อ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๔ และกุฏิข้างอุโบสถ ห้องน้ำ ๑ หลัง

หอระฆัง
- หอระฆัง : สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ ในสมัยที่ผู้รวบรวมยังเป็นเด็กวัดนั้นได้เกิดอัคคีภัยไหม้กุฏิใหญ่เมื่อ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ เวลาตี ๒ กับอีก ๔๕ นาที ไฟเกือบจะไหม้วิหารกับกุฏิเจ้าอาวาสแต่ดับไว้ทันแต่อุโบสถไม่เป็นไรน่าอัศจรรย์